กิเลส ๑๐

กิเลส ๑๐

กิเลส สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัว ไม่บริสุทธิ์

กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่ กิเลสที่ทำให้อยาก เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ ได้แก่ราคะ โลภะ อิจฉา (อยากได้) เป็นต้น

กิเลสธุลี ธุลีคือกิเลส ฝุ่นละอองคือกิเลส

กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสเป็นมาร โดยอาการที่เข้า ครอบงำจิตใจขัดขวางไม่ให้ทำความดี ชักพาให้ทำความชั่ว ล้างผลาญคุณความดี ทำให้บุคคลประสบหายนะและ ความพินาศ

กิเลสวัฏฏ์ วนคือกิเลส วงจรส่วนกิเลส หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหาและอุปาทาน

กิเลสานุสัย กิเลสจำพวกอนุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน จะปรากฏเมื่อารมณ์มายั่วยุ เหมือนตะกอนน้ำที่อยู่ก้นโอ่ง ถ้าไม่มี คนกวนตะกอนก็นอนเฉยอยู่ ถ้ากวนน้ำเข้าตะกอนก็ลอยขึ้นมา

จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต)

กิเลส

กิเลส หมายถึงธรรมชาติที่เป็นเครื่องให้เศร้าหมองหรือเร่าร้อน กิเลสมี ๑๐ คือ

(๑) โลภะ ความยินดีพอใจในโลกียอารมณ์ต่างๆ

(๒) โทสะ ความโกรธ ความไม่พอใจ

(๓) โมหะ ความหลง ความโง่

(๔) มานะ ความเย่อหยิ่ง ถือตัว

(๕) ทิฏฐิ ความเห็นผิด

(๖) วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจในสิ่งที่ควรเชื่อ

(๗) ถีนะ ความหดหู่

(๘) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

(๙) อหิริกะ ความไม่ละอายต่อทุจริต

(๑๐) อโนตตัปปะ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อทุจริต

จาก คู่มือการศึกษาหลักสูตรจูฬอาภิธรรมิกะโท ฝ่ายวิชาการ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

กิเลส ๑๐

กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ กิเลสาฯ ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อน ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กิเลส

กิลิสฺสติ เอเตหีติ กิเลสาฯ สัมปยุตตธรรม (คือ จิตและเจตสิก) ย่อมเศร้าหมองด้วยธรรมชาติใด ธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการเศร้าหมองของสัมปยุตตธรรมนั้น ชื่อว่า กิเลส

สงฺกิเลเสตีตี สงฺกิเลโส วิพาธติ อุปปาเปติ จาติ อตฺโถ ฯ ธรรมเหล่าใดย่อมเศร้าหมอง ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า สังกิเลส เพราะอรรถว่า ยังสัตว์ให้เร่าร้อน

คำว่า กิเลส หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำให้หมองเศร้า หรือ เร่าร้อน ฉะนั้น จิต เจตสิก รูป ที่เกิดพร้อมกับกิเลสเหล่านั้น จึงมีความเศร้าหมองเร่าร้อนไปด้วย เพราะตามธรรมดาจิตใจและกิริยาอาการ ของบุคคลทั้งหลายนั้น ถ้าไม่ได้เกิดเกี่ยวข้องกับโลภะ โทสะ เป็นต้น แล้ว บุคคลผู้นั้นจะรู้สึกว่าจิตใจสบาย รูปร่างหน้าตาผ่องใส ไม่มีความ เดือดร้อนแต่ประการใด เป็นที่สบายตา สบายใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น แต่ถ้าจิตใจของผู้ใดเกิดขึ้นโดยมีโลภะ โทสะ เป็นต้น เข้าเกี่ยวข้องผูกพัน ด้วยแล้ว จิตใจของผู้นั้นก็จะมีความเศร้าหมองเดือดร้อน รูปร่างหน้าตา ไม่ผ่องใสปรากฏขึ้น แล้วแต่กำลังของกิเลสนั้นๆ และย่อมเป็นที่ ไม่สบายตาสบายใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรง เรียก โลภะ โทสะ เป็นต้น เหล่านี้ว่า กิเลส ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ = กิเลสา (วา) กิลิสฺสติ เอเตหีติ = กิเลสา ธรรมชาติใด ย่อมทำให้เร่าร้อน ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กิเลส หรือ สัมปยุตตธรรม คือ จิต เจตสิก ย่อมเศร้าหมองด้วยธรรมชาติใด ฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการเศร้าหมองของสัมปยุตตธรรมนั้น จึงชื่อว่า กิเลส (ได้แก่ กิเลส ๑๐)

รวมหมายความว่า กิเลสเป็นสภาพธรรม (คือ สภาพตามธรรมชาติ ก็คือเป็นธรรมชาตินั่นเอง – deedi) ที่เศร้าหมองและเร่าร้อน ซึ่งยังให้สัตว์ ทั้งหลายเศร้าหมองและเร่าร้อน

กิเลส มี ๑๐ ประการ คือ

(๑) โลภกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะยินดีชอบใจในอารมณ์ ๖ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความยินดีพอใจในโลกียอารมณ์ต่างๆ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิตก ที่ในโลภมูลจิต ๘

(๒) โทสกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะไม่ชอบใจในอารมณ์ ๖ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความโกรธความไม่พอใจ องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒

(๓) โมหกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะความมัวเมาลุ่มหลง ไม่รู้สึกตัว ปราศจากสติสัมปชัญญะ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือความหลง ความโง่ องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ใน อกุศลจิต ๑๒

(๔) มานกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะความทระนงตนถือตัว ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความเย่อหยิ่งถือตัว องค์ธรรมได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔

(๕) ทิฏฐิกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริง ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความเห็นผิด องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔

(๖) วิจิกิจฉากิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะความสงสัยลังเลใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความสงสัยลังเลใจ ในสิ่งที่ควรเชื่อ องค์ธรรมได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑

(๗) ถีนกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะหดหู่ท้อถอยจากความเพียร ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความหดหู่ องค์ธรรมได้แก่ ถีนเจตสิก ที่ในอุกศลสสังขาริกจิต ๕

(๘) อุทธัจจกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะเกิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความฟุ้งซ่าน องค์ธรรมได้แก่ องค์ธรรมได้แก่อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒

(๙) อหิริกกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะไม่ละอายในการกระทำบาป ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความไม่ละอายต่อทุจริต องค์ธรรมได้แก่ อหิริกเจตสิก ที่ในอุกศลจิต ๑๒

(๑๐) อโนตตัปปกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะไม่เกรงกลัวผลของการกระทำบาป ธรรมชาติที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง คือ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อทุจริต องค์ธรรมได้แก่ อโนตตัปปเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒

รวมกิเลสมี ๑๐ องค์ธรรมก็คงมี ๑๐ เท่ากัน ชื่อของกิเลสและชื่อของ องค์ธรรมก็ตรงกัน

ใส่ความเห็น